สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 545  ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีกทอดหนึ่งโดยชอบท่านว่าผู้เช่าช่วงย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง ในกรณีเช่นว่านี้หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปก่อน ท่านว่าผู้เช่าช่วงหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่

วรรคสอง อนึ่ง บทบัญญัติอันนี้ไม่ห้ามการที่ผู้ให้เช่าจะใช้สิทธิของตนต่อผู้เช่า

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1896/2537 โจทก์เป็นผู้เช่าโรงแรม ห้องอาหาร สถานอาบ อบ นวด และสโมสรสนุกเกอร์ จากบริษัท ส. แล้วนำห้องอาหารและตึกแถวให้จำเลยเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากบริษัท ส.ต่อมาบริษัทส.ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 และให้จำเลยชำระค่าเช่าแก่บริษัท ส. ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ชำระค่าเช่าให้แก่บริษัท ส.ตามที่บริษัทส. เรียกร้อง ถือได้ว่าจำเลยได้ปฎิบัติหน้าที่ในการชำระหนี้ค่าเช่าถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 545 ที่กำหนดให้ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดชำระค่าเช่าต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงแล้ว จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าเช่าและมิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายจากจำเลย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6452/2538 การพิจารณาว่าคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ต้องถือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง กล่าวคือหากมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท ก็ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โดยถือเอาค่าเช่าจริง ๆ ที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ส่วนที่จะฟังว่าอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาทนั้น เป็นเรื่องการฟ้องผู้อาศัยหรือบุคคลอื่นซึ่งมิได้กำหนดค่าเช่ากันไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าให้ออกจากตึกแถวพิพาท และตามสัญญาเช่ากำหนดค่าเช่าไว้ในอัตราเดือนละ 100 บาท ซึ่งไม่เกินเดือนละสองพันบาท จึงต้องห้ามคู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าหากนำตึกแถวและที่ดินไปปรับปรุงแล้วนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจะได้ค่าเช่าประมาณอัตราเดือนละ 4,000 บาท นั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายในอนาคตอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทเท่านั้น จะนำมาเป็นเกณฑ์พิจารณาคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสองไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 เมื่อมีบุคคลภายนอกมายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งอาจฟ้องร้องว่ากล่าวหรือต่อสู้คดีโดยลำพังได้ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในตึกแถวพิพาทที่ให้จำเลยเช่าไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป โจทก์ที่ 1 ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์ที่ 1ก็ตาม แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าช่วงตึกแถวพิพาทจากโจทก์ที่ 2ย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมคือโจทก์ที่ 1 โดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 545 ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดและโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทแล้วจำเลยก็มีหน้าที่ต้องส่งคืนตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองการที่จำเลยยังคงครอบครองตึกแถวพิพาทต่อไปอีกย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทไม่อาจใช้ประโยชน์จากตึกแถวพิพาทได้และโจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยไม่สามารถส่งคืนตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ ฟ้องโจทก์ได้แสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15922/2553 การเช่าทรัพย์ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องผูกพันตามสัญญาเช่านั้น การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงโดยโจทก์ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้เช่าช่วงโดยชอบ และต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 จำเลยที่ 2 หาใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงในวันเดียวกันด้วย เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเช่าต่อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 2 ยังครอบครองทรัพย์ที่เช่าช่วงตลอดมาหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จะโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่